ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่าสถิติต่าง ๆ เหล่านี้สามารถชี้วัตผความสามารถของนักฟุตบอลได้ค่อนข้างเที่ยงตรงมากทีเดียว แต่ขณะเดียวกันมันก็ไปลดทอนคุณค่าในตัวผู้เล่นบางกลุ่มซึ่งผลงานของพวกเขาเอามาวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกกองหน้าหรือมิดฟิลด์ตัวรุกมักจะได้รับรางวัลส่วนตัวใหญ่ ๆ และมีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักฟุตบอลอีกมากมายหลายคนที่สร้างผลงานโดดเด่นเอาไว้ในแต่ละเกม แม้มันอาจจะวัดเป็นตัวเลขไม่ได้แต่สำหรับคนที่ตามดูการแข่งขันอย่างจริงจังจะเห็นภาพชัดเจนว่าพวกเขาเหล่านั้นทรงอิทธิพลต่อรูปเกมมากจนทีมขาดไปแทบไม่ได้เลย
และพระเอก “ผู้ปิดทองหลังพระ” ที่เราอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ ธิอาโก้ อัลคันทารา มิดฟิลด์ตัวเชื่อมเกมของ บาเยิร์น มิวนิค นั่นเอง
เชื่อเถอะว่าคอบอลส่วนใหญ่คงคุ้นชื่อเสียงเรียงนามของกลางรับทัพเสือใต้คนนี้ดีอยู่แล้ว แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเขามีความสำคัญต่อทีมมากขนาดไหน ซึ่งอาจเป็นเพราะตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ ส่งผลให้เจ้าตัวไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักหากเทียบกับเหล่าตัวรุกอย่าง เลวานดอฟสกี้, มุลเลอร์ หรือแม้แต่ กนาบรี ที่เดี๋ยวนี้เองก็ยังถูกยกขึ้นเป็นกระแสตามหน้าสื่อบ่อยกว่าด้วยซ้ำ
เราจึงอยากหยิบยกเอาเรื่องราวของ ธิอาโก้ อัลคันทารา มาเล่าให้ฟังกันสักหน่อย เผื่อว่าใครจะจำเอาไว้คุยกับเพื่อนฝูงในวงสนทนาประสาลูกหนัง ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
ถ้าพร้อมแล้ว ! เลื่อนตามลงไปทัศนาได้เลย !!
จากเด็กปั้นของ ลามาเซีย สู่ความท้าทายใหม่ในทีม บาเยิร์น มิวนิค
หากใครผ่านการเล่นเกม FM หรือ Football Manager มาในช่วงปี 2007-2008 น่าจะรู้จักเด็ก “เทพ FM” ของ บาร์เซโลนา ที่สมัยนั้นมีอายุเพียงแค่ 16 ปี ถือสองสัญชาติ (บราซิล-สเปน) และสำคัญคือดึงตัวมาได้แบบฟรี ๆ ตั้งแต่เปิดเซฟใหม่ (แม้จะจีบยากสักหน่อยก็ตาม)
จั่วหัวกันมาขนาดนี้แล้วก็ไม่ต้องสืบเลยว่าเป็น ธิอาโก้ อัลคันทารา พระเอกของเราในวันนี้แน่นอน
และนอกจากจะมีชื่อเสียงโด่งดังมากในหมู่เกมเมอร์สายฟุตบอลแล้ว ชีวิตจริงของ ธิอาโก้ เองก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน เพราะเขาคือลูกชายของอดีตนักเตะชื่อดังอย่าง มาซินโญ กลางรับผู้เคยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกับทีมชาติบราซิลเมื่อปี 1994
ด้วยพรสวรรค์ที่สืบทอดมาตามขีดจำกัดสายเลือดทำให้สต๊าฟฟ์โค้ชของ ลามาเซีย ตั้งความหวังเอาไว้อย่างสูงว่าจะปั้น ธิอาโก้ ขึ้นเป็นอนาคตใหม่ให้กับ บาร์เซโลนา ได้แน่นอน
แต่เส้นทางชีวิตของเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่เจ้าตัวดันมาเติบโตเอาในยุคที่ ซาบี เฮอร์นันเดซ, อันเดรส อิเนียสต้า, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ กำลังพีคสุด ๆ กันอยู่พอดีจนส่งผลให้ไม่สามารถสอดแทรกขึ้นมาเป็นตัวจริงบนแผงมิดฟิลด์ทัพต่างดาวได้ตามที่ตัวเองและหลาย ๆ คนคาดหวังไว้
อย่างไรก็ตาม ธิอาโก้ ก็ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอะไรทั้งนั้น และมุ่งมั่นพิสูจน์ตัวเองต่อไปกับทีมชุดเล็ก จนได้รับโอกาสติดทีมชาติสเปนชุด U-21 ซึ่งเจ้าตัวคือคีย์แมนผู้พาทัพกระทิงดุคว้าแชมป์เยาวชนยุโรปมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ด้วยผลงานการซัดแฮตทริกใส่ อิตาลี ในรอบชิงฯ
เมื่อชีวิตมันต้องก้าวเดินต่อไป ธิอาโก้ กลับมาคิดทบทวนถึงการออกแบบเส้นทางค้าแข้งให้ตัวเองใหม่หมดอีกครั้ง เพราะในเมื่อเก่งขนาดนี้แล้วจะมาโดนดองยาวอยู่ในถิ่นคัมป์นูตลอดไปก็ไม่ใช่เรื่องถูกสักเท่าไหร่ แม้จะรักทีม บาร์เซโลนา ขนาดไหนก็ตาม
สุดท้ายเขาตัดสินใจพาตัวเองย้ายออกไปอยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค ด้วยค่าตัวแค่ 25 ล้านยูโรเมื่อปี 2013 โดยมี เป๊ป กวาร์ดิโอลา ลูกพี่เก่าที่ตอนนั้นคุมทัพเสือใต้อยู่เป็นผู้ติดต่อขอซื้อเองโดยตรง
ไม่ง่ายกว่าจะกลายมาเป็นกระดูกสันหลังของทัพเสือใต้
ถึงแม้ ธิอาโก้ จะได้ร่วมงานกับเทรนเนอร์ที่รู้ใจอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา และถูกส่งลงเปิดตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลแรกของตัวเอง แต่ชีวิตมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะหลังจากที่ทำผลงานน่าประทับใจมาตลอดครึ่งปี จู่ ๆ ก็ดวงแตกได้รับบาดเจ็บรุนแรงบริเวณหัวเข่าจนต้องพักยาวร่วมปี
แน่นอนว่าทีมใหญ่อย่าง บาเยิร์น ไม่สามารถเสียเวลารอนักเตะเพียงคนเดียวไปเปล่า ๆ ได้ ฉะนั้นระหว่างที่ ธิอาโก้ พักรักษาตัวอยู่ เป๊ป ก็ยกระดับความแกร่งให้ทัพเสือใต้ไปเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องของแท็คติกและตัวผู้เล่น ซึ่งพอหายเจ็บกลับมา จึงได้รับผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงต่อเส้นทางค้าแข้งเต็ม ๆ เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ธิอาโก้ เป็นนักฟุตบอลประเภทที่มีความมุ่งมั่นสูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว เขาจึงทำงานหนักต่อเนื่องและพยายามพิสูจน์ตัวเองทุกครั้งที่ได้รับโอกาสโดยไม่เคยปริปากบ่นเลยแม้แต่นิดเดียว แม้จะถูกส่งลงสนามในฐานะตัวสำรองของเพื่อนฝูงในช่วงครึ่งหลังแบบต่อเนื่องทุกนัดก็ตาม”
หลังจากที่เคาะสนิมจนหลุดหมด ฟอร์มเก่ง ๆ เริ่มกลับมา ความมั่นใจก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยทำให้ ธิอาโก้ เริ่มกล้าแสดงให้โลกเห็นถึงพรสวรรค์ที่แท้จริง ซึ่งก็คือการเลี้ยงบอลทะลุทะลวงจากกลางสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้ามอย่างอันตราย ซึ่งมันจุดประกายให้ เป๊ป มองเห็นว่าจะทำยังไงให้ใช้งานได้จนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
จนสุดท้าย ธิอาโก้ ก็กลายเป็นตัวจริงที่ไม่เคยหลุดจากทีมอีกเลย
ธิอาโก้ คือศิลปินลูกหนังตัวจริง
เพื่อนร่วมทีม บาเยิร์น มิวนิค รวมถึงแฟน ๆ ต่างทราบดีว่า ธิอาโก้ มีสไตล์การเล่นบอลสวยงามน่าประทับใจเพราะมีสายเลือดแซมบ้าไหลเวียนอยู่ในตัว แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนหลงรักเพลงแข้งของเขามากสุดก็คืออิทธิพลที่มีต่อรูปเกมยามไม่ได้เป็นผู้ครองบอลนี่แหละ
อย่างที่รู้กันดีว่านอกเหนือจากทักษะด้านการเล่นกับลูกฟุตบอลแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่างที่เป็นตัวชี้วัดว่าใครเก่ง-ไม่เก่งอย่างไรบ้าง ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นมากของ ธิอาโก้ ก็คือเรื่องการยืนตำแหน่งนี่แหละ
เขามักจะอยู่ถูกที่ถูกเวลาเสมอราวกับมองเห็นอนาคตว่าเพื่อนจะทำอะไร ? ขยับไปทางไหน ? คู่แข่งจะบุกมาตามช่องไหน ? ส่งบอลขึ้นหน้ากันอย่างไร ?
ผลคือ ธิอาโก้ กลายเป็นคนที่มีส่วนร่วมกับทั้งเกมรุกและเกมรับมากที่สุดในทีมเกือบจะทุกแมตช์ และด้วยความที่การเล่นของเขาทำให้เพื่อนได้เปรียบฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน จึงทำให้ต้องลงสนามตลอดหากไม่สุดวิสัยจริง ๆ
ดาวเตะทีมชาติสเปนคนนี้ฉลาดหลักแหลมมากพอจะผสมผสานทักษะสุดพริ้วของตัวเองเข้ากับระเบียบวินัยจนได้ออกมาเป็นสไตล์การเล่นที่มีเอกลักษณ์สุด ๆ เพราะขณะตั้งรับเขาคือด่านสำคัญที่ช่วยกรองให้งานของเหล่าผู้เล่นกองหลังง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ส่วนเกมรุก ธิอาโก้ ถูกวางให้เป็นตัวเริ่มเปิดฉากมาตั้งแต่ยุคสมัยที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ยังรับงานกุนซืออยู่ ซึ่งเจ้าตัวสามารถทำให้ทั้งบทบาทของ Deep Lying Playmaker ผู้วางบอลจากแนวลึกขึ้นหน้าอย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำ แถมยังเลี้ยงตะลุยเข้าสู่พื้นที่สุดท้ายได้ด้วยตัวเองอีกต่างหาก เรียกว่าบุกมาแต่ละที สร้างพื้นที่ให้เพื่อนคนอื่น ๆ และป่วนกองหลังฝ่ายตรงข้ามจนพินาศได้พร้อมกันเลย
และทั้งหมดที่ว่ามานั้น ธิอาโก้ ไม่เคยลืมที่จะใส่ลีลาสวยงามสร้างความบันเทิงเริงใจแก่ผู้ชมเอาไว้ด้วย
ฉะนั้นหากใครสังเกตเห็นรูปแบบของ ธิอาโก้ ที่มีอิทธิพลต่อเกมของ บาเยิร์น มิวนิค อย่างแท้จริงล่ะก็ บอกได้คำเดียวว่า “นักเล่นเขารู้กัน”