เชื่อว่าชื่อของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม กลับมาเป็นที่พูดถึงในหมู่แฟนบอลกันอีกครั้งเมื่อพวกเขาสามารถทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในซีซัน 2018-2019 ด้วยการฝ่าด่านยอดทีมของโลกอย่าง ยูเวนตุส และ เรอัล มาดริด ได้สำเร็จ แต่ดันไปไม่ถึงฝั่งฝันกับการต้องพ่าย ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ อดเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ตามผลพวงของการทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในครั้งนั้นทำให้โลกได้รู้จักดาวเตะอย่าง แฟรงกี้ เดอ ยอง, มาไตส์ เดอ ลิกท์, ฮาคิม ซิเย็ค, ดาวิด เนเรส และ ดอนนี ฟาน เดอ เบ็ค ซึ่งเกือบทั้งหมดต่างย้ายออกไปเล่นให้กับบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรปแทบทั้งสิ้นในปีต่อมา
ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์เกือบจะกลับมาซ้ำรอยในช่วงยุค 90 อีกครั้ง เมื่อตอนที่พวกเขาเขย่าบัลลังก์ยุโรปภายใต้การนำของแม่ทัพอย่าง หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือหนุ่มผู้อหังการถึงขนาดที่พาทีมเข้าชิงแชมป์ยุโรปถึง 2 ครั้งติดต่อกัน
อย่างไรก็ตามแม้จะคว้าแชมป์ได้แค่ครั้งเดียว แต่ อาแจ็กซ์ ในยุคนั้นก็ยังคงได้รับการกล่าวถึงจนกระทั่งทุกวันนี้
ต้นกำเนิดความยิ่งใหญ่
จริง ๆ แล้วพวกเขา ไม่ได้เพิ่งมาดังเปรี้ยงปร้างในยุค 90 เพราะก่อนหน้านี้ยอดทีมจากแดนกังหันลมก็เคยเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรปมาแล้วในช่วงยุค 70 ด้วยการคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยนคัพ หรือชื่อเดิมของ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 3 สมัยติดต่อกันในปี 1970-1971, 1971-1972 และ 1972-1973 ในยุคที่มีนักเตะเทวดาอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ บัญชาเกมในสนาม
จนกระทั่งในอีกเกือบ 20 ปีต่อมาการมาถึงของ หลุยส์ ฟาน กัล ก็ทำให้ อาแจ็กซ์ กลับมาเป็นทีมที่ได้รับการกล่าวขวัญและกลายเป็นหนึ่งในตำนานยุค 90 และเป็นหนึ่งในต้นแบบการของการสร้างทีมฟุตบอลจนถึงยุคปัจจุบัน
ฟาน กัล เข้ารับงานที่ อัมสเตอร์ดัม เมื่อปี 1991 ต่อจาก ลีโอ บีนฮักเกอร์ และเขาก็เป็นคนคืนชีพอาณาจักรลูกหนังแห่งนี้ให้กลับมายิ่งใหญ่บนเวทียุโรปด้วยบรรดานักเตะดาวรุ่งที่ก้าวขึ้นมาจากอคาเดมีของสโมสร ภายใต้ปรัชญาลูกหนังที่สืบสานกันมาตั้งแต่ยุคของ “ท่านนายพล” ไรนุส มิเชล หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ “โทเทิลฟุตบอล”
“จอมปรัชญา” เริ่มต้นงานของตัวเองในปีแรกด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่าคัพ ในซีซัน 1991-1992 ก่อนจะกลับมาเป็นแชมป์ เอรีดีวีซี ฮอลแลนด์ ได้สำเร็จในซีซัน 1993-1994 โดยพื้นฐานของทีมเกือบจะทั้งหมดมาจากนักเตะดาวรุ่งกว่า 70-80% ก่อนที่พวกเขาจะสร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญให้กับวงการฟุตบอลยุโรปในปีต่อมา
โค่น มิลาน ครองบัลลังก์เจ้ายุโรป!
ผลพวงจากปรัชญาการทำทีมของ หลุยส์ ฟาน กัล ทำให้ในซีซัน 1994-1995 พวกเขาสามารถคว้าแชมป์ลีกดัตช์ชนิดไร้พ่ายได้อย่างยิ่งใหญ่ ก่อนจะสร้างชื่อด้วยการก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปี 1995 โดยสามารถเอาชนะยอดทีมในยุคนั้นอย่าง เอซี มิลาน ที่มีดาวดังคับสโมสรในนัดชิงชนะเลิศที่ เวียนนา ออสเตรีย ด้วยสกอร์ 1-0 จากการทำประตูของดาวรุ่งตัวสำรองอย่าง แพททริค ไคลเวิร์ต
การคว้าแชมป์ครั้งนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์แล้ว แต่ที่ยังมีให้เซอร์ไพรส์มากกว่านั้นคือ ค่าเฉลี่ยอายุของนักเตะของทีมจากฮอลแลนด์ในคืนนั้นอยู่ที่ 23 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 13 จาก 18 คนที่มีชื่อในนัดชิงชนะเลิศเป็นนักเตะที่มาจากอคาเดมีของพวกเขา ส่วนคู่แข่งอย่าง ปีศาจแดงดำ นั้นก็มิใช่ธรรมดาเพราะพวกเขากำลังอยู่ในช่วงพีคด้วยการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยใหญ่ของยุโรป 5 ครั้งในช่วงปี 1989 -1995 และอยู่ในฐานะแชมป์เก่าที่เพิ่งจะจัดการสอนบอล บาร์เซโลนา ในนัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 1994 ด้วยสกอร์ 4-0
จากนั้นเป็นต้นมาโลกลูกหนังก็ได้รู้จักชื่อของดาวรุ่งมากมายอย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอ ซาร์, มิชาเอล ไรซีเกอร์, พี่น้อง แฟรงค์ และ โรนัลด์ เดอ บัวร์, คลาเรน เซดอร์ฟ, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, มาร์ค โอเวอร์มาร์ส, เอ็นวานโก้ คานู และคนยิงประตูชัยอย่าง แพทริค ไคลเวิร์ต โดยทั้งหมดนี้ต่อมาได้กลายเป็นตำนานของทั้งทีมชาติฮอลแลนด์และสโมสรยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรป
ในปีต่อมา ฟาน กัล ยังคงพาทีมครองความยิ่งใหญ่ในดินแดนกังหันลมได้อย่างต่อเนื่องด้วยการคว้าแชมป์ลีกอีก 1 สมัยพร้อมกับการเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แต่ครั้งนี้ทำได้เพียงรองแชมป์หลังจากพ่ายให้กับ ยูเวนตุส จากการดวลจุดโทษ
ทีมแตก!
เมื่อมีจุดสูงสุดก็ย่อมจะต้องถึงเวลาที่จะร่วงลงต่ำเช่นเดียวกัน อาแจ็กซ์ เป็นอีกทีมที่โดนความสำเร็จของตัวเองกลืนกิน ด้วยการที่ไม่ใช่ทีมเงินถุงเงินถัง เน้นการสร้างระบบเยาวชนเพื่อป้อนนักเตะขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ชะตากรรมของพวกเขาจึงมาถึงทางตันหลังปี 1996 พร้อมด้วยสิ่งที่เรียกว่า “กฎบอสแมน”
ยอดทีมของฮอลแลนด์ไม่สามารถรั้งนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีเอาไว้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาโดนกฎฟรีเอเยนต์นี้เล่นงานทำให้ต้องปล่อยนักเตะบางรายออกไปแบบฟรี ๆ รวมทั้งยังต้องจำใจขายบางส่วนในราคาถูก พวกเขาทยอยเสียผู้เล่นสำคัญไปทีละคนสองหลังคว้าแชมป์ แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 1995 และในอีก 2 ปีต่อมา หลุยส์ ฟาน กัล ก็หมดสัญญากับทีมและก้าวขึ้นไปเป็นกุนซือ บาร์เซโลนา เมื่อปี 1997 พร้อมกับการดึงเอาซุปเปอร์สตาร์ในทีมอย่าง แฟรงค์ เดอ บัวร์, มิเชล ไรซีเกอร์ และ ยารี ลิตมาเนน ไปสานต่อความสำเร็จในถิ่น คัมป์นู
ถือได้ว่าการอำลาทีมของ ฟาน กัล เป็นการปิดตำนานความยิ่งใหญ่ในยุค 90 ของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม เพราะหลังจากนั้นมาพวกเขาก็ยังไม่สามารถกลับมาสร้างชื่อในยุโรปได้อีกเลย แม้ว่าจะยังคงมีดาวเตะที่เป็นผลผลิตของสโมสรออกมาให้โลกลูกหนังได้ยลฝีเท้าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก็ตาม