[Opinion] รุย คอสต้า เพลย์เมคเกอร์ No.10 ที่คลาสสิกสุดแห่งยุคสมัย

ในโลกแห่งฟุตบอล มีนักเตะผู้สร้างสรรค์เกมบุกที่ได้รับการยกย่องว่าอยู่ในระดับอัจฉริยะจริง ๆ เพียงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากพวกเขาจะมีตำแหน่งเป็น เพลย์เมคเกอร์ No.10 ที่คอยหาจังหวะเข้าทำอยู่หลังกองหน้านั่นเอง

และเมื่อเรานึกถึงนักเตะในตำแหน่งนี้จากยุคคลาสสิก ภาพของ ซีเนอดีน ซีดาน, โรแบร์โต บาจโจ้, จอร์จี้ ฮาจี้, แอนดี้ โมลเลอร์, พาโบล ไอมาร์ ฯลฯ ก็จะผุดขึ้นมาในหัวทันที แต่กลับมีแค่ไม่กี่คนที่จะพูดชื่อของ “รุย คอสต้า” ออกมาทั้ง ๆ ที่นี่คือ 1 ในเพลย์เมคเกอร์ No.10 ที่มีความคลาสสิกสุดในยุคสมัยของตัวเองเลยทีเดียว

คำถามคือแล้ว รุย คอสต้า เก่งขนาดไหนถึงได้รับการยกย่องจากแฟนบอลในระดับนั้น ?

ผู้เขียนขอยกข้ออ้างที่ไกลตัวสุดอย่าง การไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมากเท่าที่ควรมาพูดถึงก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถึงแม้จะเป็นเหตุผลที่ฟังดูตลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะช่วงเวลาที่ คอสต้า พีคสุดบนเส้นทางลูกหนังเขาเล่นให้กับสโมสรที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่าง ฟิออเรนตินา นานหลายปีนั่นเอง

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องฝีเท้าแล้ว นี่คืออัจฉริยะลูกหนังที่มีความร้ายกาจมากสุดคนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เอาง่าย ๆ ว่าคุณจะหาเพลย์เมคเกอร์คนไหนที่เล่นเข้าขากับดาวยิงระดับพระกาฬอย่าง กาเบรียล บาติสตูตา ได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยเท่านี้อีก ? เพราะขนาดตัวเทพ ๆ อย่าง ฟรานเชสโก้ ต็อตติ ยังเข้าถึงสไตล์ของ บาติโกล์ ได้ไม่ลึกเท่ากับตำนานชาวโปรตุเกสคนนี้เลยด้วยซ้ำ

จุดเด่นของ “เจ้าพ่อถุงเท้าครึ่งแข้ง” คนนี้ก็คือการสร้างสรรค์เกมบุกด้วยมิติอันหลากหลายด้วยตัวคนเดียว ทั้งการลากบอลทะลุทะลวงผ่านแนวรับเข้าหากรอบเขตโทษ, การแทงบอลทะลุช่องที่อันตรายเหนือจินตนาการของแนวรับจนแทบไม่มีใครต้านอยู่, ชิ่ง 1-2 กับเพื่อนแบบเป๊ะเวอร์, ครอสจากด้านข้างก็แม่นยำราวจับวาง แถมยังพังประตูได้เองแบบยิงเข้ามุมทุกลูกอีกด้วย

และถึงแม้สถิติการยิง+แอสซิสต์ของ คอสต้า ในฐานะแข้งม่วงมหากาฬจะไม่ค่อยสวยสักเท่านักเพราะมีตัวเลขสูงจริง ๆ แค่ 2 ซีซั่น (ปี 1998-99 ทำได้ 14 ประตู 3 แอสซิสต์ / ปี 2000-01 ทำได้ 8 ประตู 9 แอสซิสต์) แต่อิทธิพลที่เขามีต่อเกมนั้นมากมายมหาศาลจนเรียกว่าขาดไม่ได้เลยสักเกมเดียว

ถ้าลองถามคนที่ติดตามเกมลีกกัลโช เซเรียอา ในยุค 90’s อย่างจริงจังว่าเพลย์เมคเกอร์คนไหนเล่นฟุตบอลได้คลาสสิก บุคลิกโดดเด่นเป็นสง่ามากที่สุด แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะต้องเอ่ยชื่อของ รุย คอสต้า ขึ้นมาแน่ ๆ และเชื่อว่าคงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ หลายคนอยากเล่นฟุตบอลให้ได้เหมือนเขาด้วยเช่นกัน

ตามที่บอกเอาไว้ข้างต้นว่าการจ่ายบอลทะลุช่องของ คอสต้า มีความอันตรายสูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการมีคู่หูสำคัญเป็น บาติสตูต้า และอีกส่วนหนึ่งก็คือเขาใช้มันสมองคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนได้ในเสี้ยววินาทีว่าเพื่อนจะวิ่งไปทางไหน, จ่ายบอลด้วยน้ำหนักเท่าไหร่ถึงได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม และเอาไปยิงต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาแต่ง

แต่ก่อนปล่อยบอลออกจากเท้า เขาจะสังเกตตำแหน่งการยืนของแนวรับทุกคนอย่างละเอียดเพื่อดึงหาจังหวะที่ “สมบูรณ์แบบ” ที่สุด จากนั้นก็ ชึ่บ ! กดปุ่มสามเหลี่ยมแทงทะลุช่องไปให้เพื่อนซัดตุงตาข่ายแบบสวย ๆ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิสัยทัศน์การอ่านเกมที่ขาดสุด ๆ ข้ามช็อตเกินกว่าคนอื่นในสนามไปหลายจังหวะจนทำให้เกมของ ฟิออเรนตินา มีความไหลลื่นดุดันได้ใจคอลูกหนังสุด ๆ แม้จะแพ้บ้างชนะบ้างเสมอบ้าง และไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมาย

ความใจเย็นและไม่เห็นแก่ตัวของ คอสต้า เองก็ถูกยกย่องอย่างมากจากนักฟุตบอลที่เคยเล่นร่วมกันมาทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติโปรตุเกส เพราะเขาไม่เคยพลาดโอกาสที่จะจ่ายให้เพื่อนเข้าทำในจังหวะสวย ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางค้าแข้งของ รุย คอสต้า เกิดขึ้นในปี 2000 เมื่อคู่หูคนสำคัญอย่าง บาติสตูต้า ตัดสินใจย้ายออกไปอยู่กับ โรมา แบบเซอร์ไพร์สคนทั้งโลกด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการคว้าแชมป์อย่างจริงจังบ้างสักครั้งในชีวิตการเป็นนักเตะอาชีพ

แต่ถึงกระนั้น สตาร์ชาวโปรตุเกสก็พร้อมแบกรับภาระของทัพม่วงมหากาฬเอาไว้บนบ่าแต่เพียงผู้เดียว ช่วยสร้างสรรค์เกมบุกให้กับกองหน้าอย่าง นูโน โกเมซ และ เอ็นริโก เคียซา พร้อมทำประตูเองต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาล 2000-01 จนช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ โคปา อิตาเลีย มาครองได้สำเร็จ แม้จะจบอันดับ 9 ในลีกก็ตาม

ฤดูกาลถัดมา คอสต้า ตัดสินใจพาตัวเองออกไปหาความท้าทายใหม่กับ เอซี มิลาน ซึ่งทำให้แฟน ๆ ทีม ฟิออเรนตินา ต้องโศกเศร้ากันยกใหญ่ เพราะปีก่อนเพิ่งเสีย บาติโกล์ ไปหมาด ๆ แต่ทุกคนเข้าดีว่างานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา

เช่นเดียวกันกับโชคชะตาของ คอสต้า บนเส้นทางลูกหนัง เพราะหลังจากนั้นถึงแม้เขาจะถูกมองว่าเป็นตัวบัญชาเกมชั้นยอดของทัพปีศาจแดง-ดำ แต่ก็ไม่ได้รับการยกย่องในเรื่องของฝีเท้าหรือผลงานสูงเท่ากับตอนเล่นให้ทีมจากเมือง ฟลอเรนซ์ เลยแม้แต่น้อย

ปี 2006 คอสต้า ใช้เวลาช่วงบั้นปลายเส้นทางค้าแข้งกับทีมในประเทศบ้านเกิดอย่าง เบนฟิก้า ก่อนจะแขวนสตั๊ดไปอย่างเรียบง่ายในอีก 2 ฤดูกาลให้หลัง ถือเป็นการปิดตำนาน เพลย์เมคเกอร์ No.10 ที่คลาสสิกสุดแห่งยุคสมัยไปแบบไม่ค่อยมีสื่อให้ความสนใจมากนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจก็คือ หลังจากยุคของ รุย คอสต้า ไปแล้ววงการลูกหนังก็หาแข้งเทพ ๆ ในตำแหน่งนี้ สไตล์การเล่นแบบนี้ได้ยากมากเหลือเกิน แถมพอวันเวลาผ่านไป ชุดแข่งหมายเลข 10 ก็ถูกเปลี่ยนไปให้ผู้เล่นกองหน้าหรือสไตรเกอร์ใช้กันมากขึ้น รวมถึงแท็คติกแบบโมเดิร์นฟุตบอล ไม่ค่อยเน้นตำแหน่งนี้กันแล้วด้วย

สมมติว่าในอนาคตจะมีเพลย์เมคเกอร์ No.10 แบบดั้งเดิมแจ้งเกิดขึ้นมา เชื่อว่ายังไงก็เป็นที่ต้องการของวงการลูกหนังอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็วคงได้เห็นกันอีกแน่ เอาหัวเป็นประกันได้เลย